คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ต.ขามเรียง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม 44150 email : [email protected]
โทรศัพท์ 043-719868 , 043-754420
โทรภายใน 4070
หลักสูตรสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต หลักสูตรปรับปรุง (พ.ศ. 2564)
1. ชื่อหลักสูตร
ภาษาไทย : หลักสูตรสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์
ภาษาอังกฤษ : Master of Public Health Program in Public Health
2. ชื่อปริญญา
ภาษาไทย (ชื่อเต็ม) : สาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต
(ชื่อย่อ) : ส.ม.
ภาษาอังกฤษ (ชื่อเต็ม) : Master of Public Health
(ชื่อย่อ) : M.P.H.
3. หน่วยงานที่รับผิดชอบ
คณะสาธารณสุขศาสตร์ และบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
4. หลักการและเหตุผล ปรัชญาและวัตถุประสงค์ของหลักสูตร
4.1 หลักการและเหตุผล
ตามแผนพัฒนาสาธารณสุขฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545-2549) ได้เน้นการพัฒนาคุณภาพการบริการและการพัฒนากำลังคนด้านสาธารณสุข เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพ การควบคุมป้องกันโรค และการคุ้มครองสุขภาพแก่ประชาชน และตามการพัฒนาสุขภาพหรือสุขภาวะในช่วงแผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550-2555) ได้ปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์การพัฒนา โดยคำนึงถึงปัจจัยกำหนดปัญหาแวดล้อมรอบด้านอย่างบูรณาการเป็นองค์รวมและมีความสมดุลพอดี ที่มุ่งเน้นให้คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา และ สุขภาพดีเป็นผลจากสังคมดี เพื่อมุ่งสร้างระบบสุขภาพพอเพียง เพื่อสร้างให้สุขภาพดี บริการดี สังคมดี ชีวิตมีความสุขพอเพียงอย่างยั่งยืน ที่เชื่อมโยงกับการสร้างสังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน ภายใต้แนวปฏิบัติ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” การเปลี่ยนแปลงสังคมและระบบสุขภาพให้เป็นไปตามจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้ดังกล่าว จำเป็นต้องสร้างสังคมส่วนรวมที่ดีโดยการระดมพลังทั้งสังคมในทุกระดับที่มีเอกภาพ เข้มแข็งและจริงจัง อันเป็นรากฐานของสังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน จึงต้องการบุคลากรทางสาธารณสุขของประเทศ ที่มีความรู้ ความสามารถ มีจิตสำนึกในการบริการประชาชน มีความเพียรพยายาม ตลอดจนความวิริยะ อุตสาหะ ในการดำเนินงานด้านสาธารณสุข
คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการสร้างทรัพยากรบุคคลด้านสาธารณสุข ให้มีความรู้ ความสามารถในระดับมหาบัณฑิต เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาคุณภาพของการบริการด้านสาธารณสุขของประเทศ จึงได้ดำเนินการเปิดหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต ครั้งแรกในนามของคณะเภสัชศาสตร์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ (หลักสูตร พ.ศ.2545) เป็นหลักสูตรที่ดำเนินการเพื่อผลิตมหาบัณฑิตที่มีความรู้ ความสามารถทางวิชาการสาธารณสุข สามารถนำความรู้ และประสบการณ์ไปแก้ปัญหาสาธารณสุขของประเทศ รวมทั้งมีความสามารถในการทำวิจัย โดยคาดหวังให้นำผลการวิจัยไปประยุกต์ในการแก้ปัญหาสาธารณสุขทั้งในระดับท้องถิ่น ภูมิภาค และระดับประเทศ ทั้งนี้โดยใช้หลักการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Learners-centered approach) และกรณีศึกษาจากสถานการณ์จริง (Problem-based learning) เป็นกระบวนการในการจัดการเรียนการสอนให้บรรลุวัตถุประสงค์ ซึ่งได้เริ่มดำเนินการเปิดรับนิสิตรุ่นแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 และผลิตบัณฑิตไปแล้ว 3 รุ่น จำนวนมากกว่า 70 คน
ดังนั้น เพื่อให้สามารถผลิตและพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับทิศทางนโยบายและกระบวนการพัฒนาด้านสาธารณสุขของประเทศในยุค คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา และระบบสุขภาพพอเพียง จึงได้ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิตขึ้น
4.2 ปรัชญา
สุขภาพเป็นความสำคัญพื้นฐานของบุคคล ครอบครัว และชุมชน สุขภาพที่ดีเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของคุณภาพชีวิต การจัดระบบสุขภาพ การบริการสุขภาพที่ดี ที่อาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญของบุคลากรสาธารณสุข จะนำไปสู่เป้าหมายของการมีภาวะสุขภาพที่ดี
4.3 วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
หลักสูตรสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต มุ่งสร้างบัณฑิตที่มีคุณลักษณะ ดังนี้
4.3.1 มีความรู้ ความสามารถ ในการนำความรู้ทางสาธารณสุขศาสตร์ไปใช้อย่างมีคุณธรรม จริยธรรม
4.3.2 มีความสามารถในการวิจัย โดยประยุกต์วิชาการด้านสาธารณสุขศาสตร์ไปใช้ในการพัฒนา ปรับปรุงและแก้ปัญหาทางด้านสาธารณสุขได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4.3.3 สามารถค้นคว้า วิจัย และนำผลการวิจัยไปใช้เพื่อพัฒนางานด้านการส่งเสริมสุขภาพ การควบคุมป้องกันโรค และการคุ้มครองสุขภาพประชาชน